THE ECHOES OF CONFLICT
THE ECHOES OF CONFLICT
วันที่ 31 พฤษภาคม - 12 กรกฎาคม 2568
เปิดนิทรรศการในวันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม 2568 เวลา 18.00 น.
ณ Head High Second Floor เชียงใหม่
นับล้านปีของวิวัฒนาการ มนุษยชาติขับเคลื่อนอารยธรรมผ่านความขัดแย้ง จักรวรรดิผงาดขึ้นและล่มสลาย อุดมการณ์ปะทะกัน สงครามปะทุด้วยศรัทธาและผลประโยชน์ การแย่งชิงทรัพยากรและอำนาจกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของโลก ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมจนถึงปัจจุบัน แม้โลกจะก้าวสู่ยุคที่เทคโนโลยีล้ำหน้า แต่เสียงสะท้อนแห่งความขัดแย้งในอดีตก็ยังดังก้องไม่จางหาย มนุษย์สร้างประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนขึ้นมาพร้อมกับพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และรัฐเผด็จการดิจิทัล เราเชื่อว่าเรากำลังก้าวไปข้างหน้า แต่เสียงสะท้อนจากอดีตยังดังก้อง แต่ละรุ่นยังคงสืบทอดสงครามของรุ่นก่อน ชาตินิยมเคยเป็นเครื่องมือแห่งความสามัคคี แต่กลับกลายเป็นข้ออ้างของการแบ่งแยก การแย่งชิงทรัพยากรและอำนาจที่เคยเป็นเชื้อไฟของสงครามในอดีต ยังคงเป็นแรงผลักดันของภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบัน สงครามไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสนามรบอีกต่อไป แต่ปรากฏผ่านสงครามการค้า มาตรการคว่ำบาตร สงครามไซเบอร์ และการโฆษณาชวนเชื่อ มนุษย์ฝันถึงอนาคตในหมู่ดาว แต่ยังคงติดอยู่ในวัฏจักรเดิมที่ขับเคลื่อนอารยธรรมแห่งความขัดแย้งมาตั้งแต่แรกเริ่ม
เกี่ยวกับศิลปิน:
จิตรการ แก้วถิ่นคอย เป็นหนึ่งในศิลปินไทยร่วมสมัยที่เป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจมากทั้งในและต่างประเทศ ผ่านผลงานจิตรกรรมเสมือนจริงแนวสัญลักษณ์นิยมสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างกระตุ้นให้ผู้ชมสำรวจความเป็นไป และมีส่วนร่วมในการค้นหาคำตอบเกี่ยวกับความซับซ้อนของการดำรงอยู่ของมนุษย์
เขาเกิดที่จังหวัดอุทัยธานีห่างไกลจากศูนย์กลางของประเทศไทย ทำให้เขามองเห็นรายละเอียดระบบโครงสร้างทางสังคม ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม ตลอดจนชนชั้นทางสังคมได้อย่างลึกซึ้ง
ผลงานจิตรกรรมของเขาสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ การเมือง จารีตประเพณี ศีลธรรมอันดีงาม ภายใต้สังคมที่ถูกมายาคติครอบงำ รวมไปถึงการมีอยู่ของระบอบบางอย่างที่กักขังเสรีภาพและจินตนาการ นอกจากนี้ยังแฝงไปด้วยตลกร้ายผ่านการใช้สีและสัญลักษณ์ที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างบริบททางสังคม การเมือง รวมไปถึงการตั้งคำถามกับความเป็นไปของมนุษย์ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่มนุษย์ยังคงวนเวียนอยู่กับการแย่งชิงทรัพยากรและการก่อสงครามอย่างเช่นทุกวันนี้
ผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศ จึงได้มีโอกาสไปจัดแสดงงานมาหลายครั้ง อาทิ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ใต้หวัน จีน อิตาลี และ สหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นยังได้รับเชิญเป็น Artist Residency ที่ประเทศจีนในปี 2554 และยังได้รับเชิญร่วมแสดงงานกับศิลปินเอเชียตะวันออเฉียงใต้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Singapore Art Museum ต่อมาในปี 2559 จิตรการ แก้วถิ่นคอย ได้มีนิทรรศการเดี่ยวที่มีชื่อว่า In the loop ที่ Yavuz Gallery ในประเทศสิงคโปร์ ได้มีผลงานจัดแสดงทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องในเวลาถัดมาจนถึงปัจจุบัน