โรคลมพิษ…หนึ่งในโรคยอดฮิตที่กวนใจ
เนื่องในวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันโรคลมพิษโลก ในปีนี้ศูนย์โรคลมพิษและแองจิโออีดีมา ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้จัดกิจกรรม “ศิริราชห่วงใย ชวนใส่ใจ โรคลมพิษ” ครั้งที่ 5 เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคลมพิษ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ปีนี้จึงจัดกิจกรรมในรูปแบบการประชุมออนไลน์เพื่อประชาชน (virtual meeting) ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับความรู้เกี่ยวกับโรคลมพิษ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับโรคลมพิษ และมีโอกาสสอบถามในประเด็นที่สนใจเกี่ยวกับโรคลมพิษ โดยในงานประชุมครั้งนี้มีกลุ่มผู้ป่วยและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมงานจำนวนกว่า 60 คน
ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์ หัวหน้าศูนย์โรคลมพิษและแองจิโออีดีมา ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า “โรคลมพิษเป็นโรคหนึ่งที่คนในสังคมรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าโรคลมพิษสามารถแบ่งออกได้หลายประเภทและมีความรุนแรงของอาการที่แตกต่างกัน ดังนั้นการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคลมพิษอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่คนไทยไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง เพราะโรคดังกล่าวอาจเกิดขึ้นกับคุณหรือคนใกล้ชิดก็เป็นได้”
โรคลมพิษ เป็นโรคผิวหนังที่มีลักษณะเป็นผื่นหรือปื้นนูนแดง ไม่มีขุย ขนาดของผื่นเกิดได้ตั้งแต่ 0.5 เซนติเมตรหรืออาจจะมีขนาดใหญ่ถึง 10 เซนติเมตรก็ได้ อาการมักเกิดขึ้นเร็วและกระจายตามตัว แขน และขา ร่วมกับมีอาการคัน แต่ผื่นลมพิษมักจะคงอยู่ไม่นาน ส่วนใหญ่ผื่นจะราบหายไปภายใน 24 ชั่วโมงโดยไม่ทิ้งร่องรอย แต่ก็อาจจะมีผื่นขึ้นใหม่ที่บริเวณอื่น ในผู้ป่วยบางรายอาจมีริมฝีปากบวมหรือตาบวม (angioedema) ร่วมด้วย ในบางรายอาจมีอาการปวดท้อง แน่นจมูก คอ หายใจไม่สะดวก รายที่เป็นรุนแรงอาจมีอาการหอบหืด เป็นลมจากความดันโลหิตต่ำได้ แต่ผู้ป่วยกลุ่มที่เป็นรุนแรงนี้ มีเพียงจำนวนน้อย
โรคลมพิษแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
สำหรับผู้ป่วยโรคลมพิษที่มีอาการรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยโรคลมพิษเฉียบพลันที่มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หรือมีภาวะความดันโลหิตต่ำ ควรรีบพบแพทย์โดยเร็วเนื่องจากอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนผู้ป่วยโรคลมพิษเรื้อรังที่มีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อดูแลรักษาอาการต่อเนื่องตามแนวทางการรักษามาตรฐาน แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการมากและไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านฮีสตามีน อาจมีความจำเป็นต้องให้ยาตั้งแต่ 1 ชนิดขึ้นไปหรือยาฉีดชนิดอื่น ๆ เพื่อควบคุมอาการผื่นลมพิษ เมื่อควบคุมอาการได้แล้วจึงค่อย ๆ ปรับลดยาลง จนถึงพยายามหยุดยาเพื่อควบคุมโรคในระยะยาว แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเรื้อรังต่อเนื่องหลายปี ดังนั้นการรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรับยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายก็จะช่วยให้ควบคุมอาการของโรคได้ดีขึ้น ซึ่งย่อมทำให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ป่วยดีขึ้นด้วย
“แต่อย่างไรก็ตามผื่นลมพิษเรื้อรังส่วนใหญ่มักจะไม่รุนแรง ผู้ป่วยและญาติจึงไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป” ศ.พญ.กนกวลัย กุลทนันทน์ กล่าวเพิ่มเติม